⭐ สมาคมการค้าการจัดการโลจิสติกส์อุตสาหกรรมเอเชียแปซิฟิก
⭐ ทะเบียนเลขที่​ 0129562000035
⭐ สำนักงานใหญ่ : 98/20 หมู่ที่ 5 ตำบลบางคูรัด อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี 11110
⛳ ศูนย์ประสานงาน(กลาง): 3196 ม.1 ต.สำโรงเหนือ อ.เมืองสมุทรปราการ 10270, โทร.+6661-552 9625
062-785-9236 [email protected] 0627859236
หัวข้อ
การชำระเงิน
บุคลากรสำคัญของสมาคม
สถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ
หน่วยงาน องค์การ นิติบุคคลที่เข้าร่วมโครงการ/ได้ทำความร่วมมือ
Facebook
>> นโยบายและแผน

นโยบายของสมาคมการค้าการจัดการโลจิสติกส์อุตสาหกรรมเอเชียแปซิฟิก

จากวัตถุประสงค์ทั้งหมดของสมาคม ทำให้สมาคมสามารถดำเนินงานได้อย่างกว้างขวางมาก ทั้งในระดับจุลภาคและระดับมหาภาค ทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งครอบคลุมองค์ความรู้ทั้งทางวิทยาศาสตร์และสังคมศาสตร์อย่างรอบด้าน 

ด้วยความสะดวกสบายรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในการติดต่อสื่อสารและการคมนาคมขนส่งในปัจจุบัน ทำให้เกิดการแข่งขันกันให้บริการในด้านต่างๆอย่างกว้างขวางและหลากหลายรูปแบบ ซึ่งในแต่ละรูปแบบก็อาจจะมีผู้ให้บริการเป็นจำนวนมากและอาจจะให้บริการอย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งสิ่งที่มีส่วนอย่างสำคัญที่ทำให้เกิดวิวัฒนาการและความเปลี่ยนแปลงต่างๆเหล่านี้ก็คือความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

และด้วยสมาคมนี้มีอุดมการณ์และความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ความเจริญรุ่งเรือง ให้แก่สังคม นำพาความผาสุกและสันติสุข อย่างมั่นคงสถาพรมาให้แก่มนุษยชาติอย่างเต็มกำลังความสามารถ สมาคมจึงกำหนดนโยบายนี้ไว้เพื่อเป็นแนวปฏิบัติสำหรับคณะกรรมการและผู้บริหารสมาคมตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้ง ตลอดจนถึงผู้ที่จะมาสานงานต่อในภายหน้า ต่อไป

  1. นโยบายของสมาคมทางด้านการค้า แบ่งออกเป็น นโยบายระดับจุลภาคและมหาภาค ซึ่งในการกำหนดนโยบายของสมาคมฯจะกำหนดเป็นนโยบายภายในประเทศและนโยบายระหว่างประเทศ

    1.1 นโยบายการค้าภายในประเทศ 

    ส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศสามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง การผลิตภายในประเทศโดยเฉพาะการผลิตสินค้าที่เป็นปัจจัยพื้นฐานในการดำรงชีพต้องผลิตให้ได้ในปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนภายในประเทศและต้องมีการกันสำรองไว้ใช้ในยามขาดแคลนตามความเหมาะสม เช่นกันสำรองไว้30% และส่วนเกินที่เหลือจากการใช้ภายในประเทศและการกันไว้สำรองดังกล่าวแล้ว จึงจะส่งออกขายยังต่างประเทศได้ ส่วนสินค้าเพื่อการใช้สอยทั่วไปทั้งสินค้าเพื่ออำนวยความสะดวกสบายในการทำงาน สินค้าที่เป็นสิ่งอำนวยความสะดวกสบายในการดำรงชีพ ถ้าผลิตภัณฑ์ใดเป็นสิ่งที่เราสามารถผลิตเองได้และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตเราสามารถจัดหาเองได้ไม่ยากนัก เราก็จะส่งเสริมให้มีการผลิตขึ้นมาเอง และถ้าเห็นว่าผลิตภัณฑ์ใดเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศทั้งในระยะสั้นและระยะยาวเราก็ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการผลิตขึ้นมาให้ได้คุณภาพและปริมาณที่เหมาะสมแก่ความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ ซึ่งการใช้วัตถุดิบที่เราผลิตได้เองในท้องถิ่นมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเองก็เป็นการเพิ่มมูลค่าให้แก่วัตถุดิบที่เราสามารถผลิตได้ และทำให้เกิดการจ้างงานทั้งในภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมในท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นต่างๆสามารถพึ่งพาตนเองและสร้างความมั่งคั่งให้ตนเองได้อย่างยั่งยืน

    ส่งเสริมสนับสนุนให้การซื้อขายแลกเปลี่ยนและขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้าและบริการภายในประเทศเป็นไปอย่างคล่องตัวรวดเร็วและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น และสูญเสียค่าใช้จ่ายน้อยลง แนวทางปฏิบัติ เช่น ถ้าคนในท้องถิ่นหนึ่งสามารถผลิตสินค้าและ/หรือบริการหนึ่งได้ดี และอีกท้องถิ่นหนึ่งคนในท้องถิ่นสามารถผลิตสินค้าและ/หรือบริการอีกชนิดหนึ่งได้เป็นอย่างดี เราก็จะส่งเสริมให้คนในแต่ละท้องถิ่นเหล่านั้นรวมกลุ่มกันผลิตให้เป็นเอกภาพในลักษณะวิสาหกิจชุมชน โดยถ้าสมาชิกของท้องถิ่นที่รวมกลุ่มกันเป็นกลุ่มวิสาหกิจนั้นได้เข้าเป็นสมาชิกของสมาคมด้วยแล้วสมาคมก็จะสามารถเข้าไปเป็นที่ปรึกษา เป็นสื่อกลางและวางกฎระเบียบ กำหนดหลักเกณฑ์และข้อปฏิบัติต่างๆร่วมกันของสมาชิกเพื่ออำนวยความสะดวก รักษาผลประโยชน์ร่วมกันของสมาชิก และเพื่อยังให้เกิดความมั่นคง เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้าของวิสาหกิจต่างๆและสร้างความเป็นธรรมอย่างสูงสุดให้แก่สมาชิกอย่างถ้วนหน้ากัน

    1.2 นโยบายการค้าระหว่างประเทศ

    ส่งเสริมสนับสนุน ให้การติดต่อค้าขายระหว่างประเทศทำได้ง่ายขึ้น สะดวก สบาย รวดเร็วมากยิ่งขึ้น โดยสมาคมสามารถสนับสนุนส่งเสริมด้วยการ เป็นที่ปรึกษา และช่วยอำนวยความสะดวกในงานพิธีการศุลกากรให้แก่สมาชิก ช่วยหาตลาดในต่างประเทศ และช่วยเหลือเจรจาให้มีการผ่อนปรนมาตรการ การกีดกันทางการค้าในการซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศให้แก่สมาชิก และช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องให้แก่สมาชิก

    โดยเมื่อสมาชิกได้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เป็นไปในแนวทางตามข้อ1.1แล้ว ส่วนของสินค้าสำหรับส่งขายต่างประเทศ สมาคมก็ส่งเสริมให้กลุ่มสมาชิกของสมาคมที่อยู่ในประเทศหนึ่งสามารถซื้อขาย-แลกเปลี่ยนสินค้ากับสมาชิกของสมาคมที่อยู่ในอีกประเทศหนึ่งง่ายขึ้น โดยเฉพาะบรรดาสินค้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีพเช่นพวกอาหาร เพื่อให้เป็นการช่วยเหลือเกื้อกูลกันทางการค้าระหว่างสมาชิก โดยในการนี้สมาคมก็จะเป็นผู้กำหนดระเบียบ หลักเกณฑ์ ข้อปฏิบัติร่วมกัน ระหว่างสมาชิกในแต่ละประเทศ เพื่อประโยชน์ร่วมกันในการทำการค้าระหว่างประเทศของสมาชิก และประชาชนโดยทั่วไป เช่นสมาชิกในประเทศหนึ่งผลิตข้าวได้มากแต่ผลิตน้ำมันพืชได้น้อย และสมาชิกในอีกประเทศหนึ่งผลิตข้าวได้น้อยแต่ผลิตน้ำมันพืชได้มาก สมาชิกสองประเทศนี้ก็สามารถทำข้อตกลงซื้อขาย-แลกเปลี่ยนสินค้าระหว่างกันได้ภายใต้กรอบหลักเกณฑ์ที่สมาคมกำหนดขึ้นไว้ เป็นต้น การเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมและยอมรับข้อตกลง ระเบียบ กฎเกณฑ์ที่สมาคมกำหนดเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกัน จะสามารถสร้างความเป็นเอกภาพในหมู่สมาชิกและกลุ่มสมาชิกแต่ละประเทศก็จะสามารถพัฒนาศักยภาพภาคการผลิตของตนได้อย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องห่วงว่าจะขาดแคลนสินค้าหรือจะไม่มีตลาดรองรับสินค้าที่ตนผลิตได้ ซึ่งจะทำให้สมาชิกสามารถร่วมกันสร้างอำนาจต่อรองกับตลาดและกำหนดราคาผลผลิตที่เหมาะสมด้วยตนเองได้อย่างเป็นธรรมและยั่งยืน

    2. นโยบายของสมาคมทางด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์

    2.1 นโยบาย ทางด้านการคมนาคม ในภูมิภาค

    1. ส่งเสริมสนับสนุนการตัดคลอง(ลัด)สยามเพื่อเปิดเส้นทางเดินเรือ อันดามัน-อ่าวไทย เชื่อมมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิกเข้าด้วยกัน

     2. ส่งเสริมสนับสนุนการสร้างเส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูง โดย สายหลักจะเชื่อมจากคุณหมิงประเทศจีนมายังท่าเรือฝั่งอันดามันในภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย(ซึ่งสมาคมจะสนับสนุนการสร้างท่าเรือน้ำลึกนานาชาติขนาดใหญ่และเมืองสมาร์ทซิตี้ขึ้นที่ฝั่งอันดามันของประเทศไทย) ส่วนด้านตะวันออกจะเชื่อมเส้นทางรถไฟความเร็วสูงจากกรุงพนมเปญ-ผ่านมาบตาพุต-และต่อมายังท่าฝั่งอันดามัน ส่วนด้านตะวันออกเฉียงเหนือจะเชื่อมต่อจากเวียงจันท์(ลาว)มายังตะวันออกและเชื่อมต่อไปภาคใต้ฝั่งอันดามัน และภาคตะวันตกเฉียงเหนือเชื่อมจากพม่าเข้าเแม่สอดแล้วมาเชื่อมต่อกับสายหลักซึ่งสามารถขึ้นเหนือไปจีน ล่องใต้ถึงท่าเรือน้ำลึกนานาชาติอันดามัน ไปตะวันออกสู่ท่าเรือแหลมฉบัง หรือจะขึ้นตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่ประเทศลาวก็ได้  

     3. ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการสร้างท่าเรือน้ำลึกขนาดใหญ่ พร้อมเมืองสมาร์ทซิตี้ ที่ภาคใต้ฝั่งตะวันตกของประเทศไทย(ฝั่งอันดามัน)เพื่อเป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆของภูมิภาค

    ดังรายละเอียดที่จะกล่าวต่อไป



    แผนที่เส้นทางการขนส่งทางบก(รถไฟความเร็วสูง) และเส้นทางการเดินทางทางน้ำในอนาคต ที่อยู่ในแผนงานที่สมาคมฯคาดหวังว่า และจะผลักดันให้เกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ร่วมกันของมนุษยชาติ 

    ซึ่ง ถ้าสามารถดำเนินการตามแผนงานได้ จะทำให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งที่สำคัญที่สุดของโลกแห่งหนึ่ง ซึ่งก็แน่นอนว่า จะกลายเป็นศูนย์กลางทางการค้า การเงินและด้านอื่นๆด้วยตามมา เช่น เป็นศูนย์กลางอาหารโลก โดยประเทศไทยมีพื้นฐานที่มีศักยภาพในการผลิตวัตถุดิบทางด้านอาหารอยู่แล้ว ซึ่งไม่ยากที่จะปรับปรุงพัฒนาต่อยอดให้มีคุณภาพที่ได้มาตรฐานสากล และผลิตให้ได้ปริมาณที่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด หรือแม้กระทั่งทางด้านการศึกษา ค้นคว้า วิจัย เราก็สามารถ พัฒนาไปสู่ระดับแถวหน้าของโลกได้เช่นกัน และเนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค การพัฒนาของประเทศไทย ก็จะส่งผลให้ประเทศเพื่อนบ้านและภูมิภาคใกล้เคียงได้รับประโยชน์ ด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคอาเซี่ยนด้วยกันเอง สมาคมฯได้มีแนวทางที่จะให้ทุกภาคส่วนได้เข้ามารวมตัวกันอย่างเป็นปึกแผ่นมากขึ้น ซึ่งสมาคมฯก็จะทำหน้าที่เป็นองค์กรหนึ่งในการเป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงถักทอความสัมพันธ์ดังกล่าว และคาดหวังว่าในอนาคตอาเซี่ยนอาจเป็นมหาอำนาจหนึ่งของโลก